ทำไมจึงต้องปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์

        ไฮโดรโปนิกส์ เป็นทางเลือกหนึ่งของการปลูกพืชให้มีคุณภาพ มีความสม่ำเสมอผลผลิตสูง สามารถวางแผนการปลูก กำหนดปริมาณการผลิตให้เป็นไปตามเป้าหมาย หรือความต้องการของตลาดได้ดีกว่า เนื่องจากสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่ให้แก่พืชได้อย่างเหมาะสม ทำให้ปลกพืชได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะนำวิธีการปลูกพืชแบบนี้มาใช้ทำให้สามารถปลูกพืชในพื้นที่ไม่มีดินหรือดินมีปัญหา บริเวณรอบ ๆ เมืองใหญ่ มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น เพราะการปลูกแบบนี้จะใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลผลิตมาก จะเลือกปลูกพืชชนิดใดต้องศึกษาความต้องการของตลาดก่อน ความต้องการผลผลิตเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ หรือต้องการผลิตเพื่อส่งออกไปขายที่ต่างประเทศ จะผลิตพืชผัก ไม้ดอกหรือไม้ประดับ ควรจะเป็นพืชที่มีราคาแพงหรือให้ผลตอบแทนสูงถ้าทำเป็นการค้า เมื่อเลือกชนิดพืชที่มีตลาดรองรับแน่นอนแล้ว จึงเลือกระบบการปลูกที่เหมาะสม ควรเป็นระบบที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก วัสดุอุปกรณ์หาได้ภายในประเทศเพื่อลดต้นทุน จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องของผู้เขียนและคณะตั้งแต่ปี พ.. 2530 เป็นต้นมา โดยมีจุดเริ่มที่แปลงทดลองในบริเวณสวนจิตรลดาซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อหาข้อมูลเบื้องต้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจโดยเฉพาะได้รูปแบบการปลูกผักชนิดต่าง ๆ เช่น ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดหอม คึ่นฉ่าย และผักชี ปัจจุบันมีการขยายผลระบบการปลูกไปยังโครงการหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรที่จังหวัดราชบุรี จังหวัดอยุธยา และจังหวัดเลยปลูกคึ่นฉ่ายและผักสลัดชนิดต่าง ๆ ใช้ชื่อว่าผักปลูกในน้ำ หรือผักไฮโดร (สลัดแก้ว) ผักกาดหวานไฮโดร (สลัดคอส) รูปที่ 3 แสดงระบบการปลูกพืชดังกล่าว การลงทุนคิดเป็นพื้นที่ปลูก 1 ตารางเมตรประมาณ 600 บาท ตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามไม่มีระบบไหนจะสมบูรณ์ที่สุด ยังต้องมีการพัฒนาต่อไป เพื่อให้ได้ระบบการปลูกที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดในสภาพภูมิอากาศของบ้านเรา ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าหัวใจสำคัญของการปลูกพืชเป็นการค้า คือ ต้องมีผู้ซื้อหรือมีตลาดที่แน่นอน ผู้ซื้อและผู้ขายต้องมีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ไม่เอาเปรียบกันในเรื่องราคาผลผลิต ถ้าทำได้เช่นนี้ทุกฝ่ายก็จะได้รับผลประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีนี้ร่วมกันสืบไป